แนวปฏิบัติการจัดการข้อมูลที่มีความอ่อนไหว หรือมีชั้นความลับ สำหรับคลังปัญญา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

  1. บุคลากรคลังปัญญาฯ จะพิจารณาประเภทของทรัพยากรสารสนเทศเพื่อเลือกคลังสารสนเทศในการเผยแพร่ได้อย่างถูกต้อง โดยคำนึงถึงกระบวนการที่ได้มาของไฟล์ดิจิทัล สิทธิ์ในการเผยแพร่ทรัพยากรสารสนเทศนั้น ๆ และระดับชั้นการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล เช่น วิทยานิพนธ์ของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เผยแพร่ในระบบเปิด Open Access
  2. เจ้าของผลงานรับทราบเงื่อนไขการนำเข้าข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลผ่านคลังปัญญา สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ และต้องอนุญาตให้เผยแพร่ทรัพยากรสารสนเทศผ่านข้อตกลงในการอนุญาตให้จัดทำและเผยแพร่วิทยานิพนธ์ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์
  3. ทรัพยากรสารสนเทศที่จะนำเข้าสู่คลังสารสนเทศดิจิทัล ต้องไม่เข้าข่ายข้อมูลที่มีความอ่อนไหว หรือเข้าข่ายผิดจากหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
    • เนื้อหาไม่ละเมิดหลักจริยธรรม เช่น จริยธรรมทางวิชาการ จริยธรรม ในการวิจัยในมนุษย์ จริยธรรมการวิจัย จรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นต้น
    • เนื้อหาไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
    • เนื้อหาไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act : PDPA)
    • เนื้อหาไม่มีลักษณะที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม โจมตี หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือกระทบความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ และหน่วยงานต่าง ๆ
  4. การดำเนินการกรณีเมื่อพบว่าทรัพยากรสารสนเทศไม่เป็นไปตามตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (Non-Conformance/Non-Compliance)
    • 4.1 ระดับ 1 Human Errors
      • 4.1.1 หากพบข้อผิดพลาดในกระบวนการนำเข้าไฟล์หรือนำเข้าข้อมูลเมทาดาทา ให้บุคลากรคลังปัญญาฯ ตรวจสอบข้อบกพร่อง ระงับการเผยแพร่ไฟล์ดิจิทัลนั้นชั่วคราว ดำเนินการแก้ไข แล้วทวนสอบก่อนเผยแพร่อีกครั้ง
      • 4.1.2 หากพบข้อผิดพลาดที่ไฟล์ดิจิทัล ซึ่งเจ้าของผลงานเป็นผู้ร้องขอในการเปลี่ยนไฟล์/แก้ไขไฟล์ให้เจ้าของผลงานแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทางอีเมล บุคลากรคลังปัญญาฯ จะระงับการเผยแพร่ไฟล์ดิจิทัลนั้นชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขแล้วเสร็จ จากนั้น ทวนสอบก่อนเผยแพร่อีกครั้ง
    • 4.2 ระดับ 2 Non-Compliance Works ตรวจสอบพบ หรือเกิดข้อร้องเรียนข้อมูลที่ละเมิดการรักษาความลับ หรือละเมิดหลักจริยธรรม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 3
      • 4.2.1 หากบุคลากรคลังปัญญาฯ พบผลงานที่ไม่ปฏิบัติหลักเกณฑ์ข้อ 3 ในภายหลัง ให้ดำเนินการ ดังนี้
        • 4.2.1.1 ระงับการเผยแพร่ไฟล์ดิจิทัลนั้น และซ่อนรายการบรรณานุกรมนั้นออกจากระบบการสืบค้นของสำนักฯ ชั่วคราว
        • 4.2.1.2 กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะ ในหน้าเว็บไซต์คลังปัญญาฯ เพื่อเป็นหลักฐาน
        • 4.2.1.3 แจ้งเจ้าของผลงาน หรือหน่วยงานต้นสังกัดให้ชี้แจง/แก้ไข
        • 4.2.1.4 หากเจ้าของผลงานไม่สามารถดำเนินการแก้ไขตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 ได้ ภายใน 30 วันทำการ ให้บุคลากรคลังปัญญาฯ รายงานความคืบหน้าต่อผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการดำเนินงานการรับและการจัดการข้อร้องเรียนของสำนักฯ หากมีข้อสรุปว่าให้ดำเนินการระงับการเผยแพร่ถาวร ให้บุคลากรคลังปัญญาฯ แจ้งเจ้าของผลงาน หรือหน่วยงานต้นสังกัดเป็นลายลักษณ์อักษร ถอดถอนไฟล์นั้นออกจากคลังปัญญาฯ และลบรายการบรรณานุกรมนั้นออกจากระบบการสืบค้นของสำนักฯ ถาวรพร้อมระบุเหตุผลไว้ใน Note
      • 4.2.2 กรณีพบข้อร้องเรียนเนื้อหาที่ผิดหลักเกณฑ์ข้อ 3 ให้ดำเนินการตามขั้นตอนการดำเนินงาน การรับและการจัดการข้อร้องเรียนของสำนักบรรณสารการพัฒนา บุคลากรคลังปัญญาฯดำเนินการตามข้อ 4.2.1.1 ก่อน เมื่อผลการตัดสินจากหน่วยงานต้นสังกัดสิ้นสุด จึงดำเนินการตามข้อ 4.2.1.4
      • 4.2.3 กรณีผู้ใช้บริการพบผลงานที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 สามารถแจ้งให้บุคลากรคลังปัญญาฯ ทราบ เพื่อดำเนินการพิจารณาและถอดถอนออกจากคลังปัญญาผ่าน [email protected] หรือทางแบบฟอร์มข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะ
  1. เนื้อหาและความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ปรากฏในผลงานวิชาการเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของผลงาน แต่เพียงผู้เดียว สำนักบรรณสารการพัฒนาไม่รับผิดชอบใด ๆ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางแพ่งและอาญา
  2. สำนักบรรณสารการพัฒนาขอสงวนสิทธิ์ในการเป็นผู้ตรวจสอบเมทาดา และแก้ไขไฟล์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
Skip to content