แผนกลยุทธ์ 4 ปี (พ.ศ. 2564 - 2567) สำนักบรรณสารการพัฒนา

nidaLib-header-logo

องค์ประกอบของสถาบัน

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2509 เนื่องจากทรงเห็นว่าการพัฒนาประเทศในขณะนั้นมีความจำเป็นที่ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยกันพัฒนา ดังพระราชปรารภที่ว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องผลิตผู้เชี่ยวชาญสถิติ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อได้ก่อตั้งสถาบันขึ้นแล้วตามพระราชดำริ สถาบันได้กำหนดตราสัญลักษณ์ของสถาบันเป็นรูป กงล้อคล้ายธรรมจักร ภายในดวงตราสัญลักษณ์มีรูปคบเพลิง 8 อัน สื่อความหมายถึง มรรคแปด ซึ่งหมายถึงหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนาที่ใช้เป็นแนวทางไปสู่การพ้นทุกข์ด้วยการใช้ปัญญา

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในครั้งจัดทำแผนพัฒนาระยะยาว 15 ปี (2551 – 2565) จึงเห็นสมควรใช้แนวทางของมรรคแปด มาเป็นกรอบแนวคิดของปรัชญาที่พึงยึดถือสำหรับการทำงานของบุคลากรของสถาบัน โดยกำหนดเป็นปรัชญาของสถาบันว่า

“สร้างปัญญา เพื่อการเปลี่ยนแปลง”
“WISDOM for Change”

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ถือกำเนิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สถาบันจึงน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานแก่บัณฑิตทั้งหลายในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งแรกของสถาบัน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2513 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติภารกิจ โดยนำความรู้และคุณธรรม มาสร้างปัญญา สร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับให้เป็นสถาบันการศึกษาของประเทศ ที่มีศักยภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ข้อความตามพระบรมราโชวาท ซึ่งสถาบันน้อมนำมาใช้เป็นปณิธานของสถาบัน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

...ท่านทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เป็นผู้ที่เชื่อได้ว่า มีความรู้ความสามารถสูง จึงเป็นที่หวังของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งของข้าพเจ้าด้วย ที่จะได้อาศัยความรู้ ความคิด สติปัญญา และความสามารถ ในอันที่จะนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความมั่นคงและสมบูรณ์พูนสุข ขอให้ท่านรับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ด้วยความมั่นใจ ตั้งใจและบริสุทธิ์ใจ แล้วร่วมกันปฏิบัติหน้าที่น้อยใหญ่ให้ลุล่วงไป ด้วยความขยันหมั่นเพียรและด้วยความสุจริต เที่ยงตรง ทั้งต่อตนเองและต่อประชาชน...

“สถาบันชั้นนำแห่งชาติที่สร้างผู้นำและองค์ความรู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล”

วิสัยทัศน์ของสถาบัน ประกอบด้วยสาระสำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้ :

  1. ความเป็นสถาบันชั้นนำ
    สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านการบริหารการพัฒนา
  2. ความเป็นสถาบันแห่งชาติ
    สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งชาติ
  3. ความเป็นสถาบันที่ได้มาตรฐานติดอันดับโลก
    สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สามารถดำเนินภารกิจหลัก ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  4. ความเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา
    สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำการสอนเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา (สูงกว่าปริญญาตรี) ในสาขาวิชาทางด้านการบริหารการพัฒนา
    ซึ่งแตกต่างจากสถาบันอื่น
  5. ความเป็นสถาบันที่มีความเป็นเลิศใน 3 ภารกิจหลัก
    สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีความเป็นเลิศในภารกิจหลัก คือ งานด้านการวิจัย การจัดการศึกษา และการให้บริการวิชาการ

เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ของสถาบัน จึงกำหนดพันธกิจที่ต้องดำเนินการไว้ ดังต่อไปนี้

  1. สร้างผู้นำที่มีปัญญาคู่คุณธรรมเพื่อพัฒนาประเทศ
  2. สร้างองค์ความรู้ ศึกษาวิจัย ด้านการบริหารการพัฒนา
  3. สร้างงานบริการวิชาการที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ
  4. สร้างเสริมค่านิยมและจิตสำนึกมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ บนพื้นฐานความเข้มแข็งของศิลปวัฒนธรรมไทย
  5. สร้างเสริมการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โดยให้คุณค่ากับการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของบุคลากร
  6. สร้างประโยชน์ให้กับสังคมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยสรุปพันธกิจของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คือ การมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาที่มีภาวะผู้นำ พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และให้บริการวิชาการ ด้านการบริหารการพัฒนา เพื่อให้บุคลากรของประเทศมีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

WISDOM มีความหมายมากกว่าคำแปลปกติโดยทั่วไป ว่า “ปัญญา” ทั้งนี้ เพราะ WISDOM เป็นคำย่อมาจากพยัญชนะตัวแรกของค่านิยมร่วมของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 6 ค่านิยมร่วมกัน ดังนี้

W   เป็นพยัญชนะตัวแรกของค่านิยม “World Class” ซึ่งสื่อความหมายถึง ความมุ่งมั่นของประชาคมนิด้าที่ต้องการพัฒนาสถาบันไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก

I   เป็นพยัญชนะตัวแรกของค่านิยม “Innovation” ซึ่งสื่อความหมายถึง ความมุ่งมั่นของประชาคมนิด้าที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับสังคมไทย

S   เป็นพยัญชนะตัวแรกของค่านิยม “Social Responsibility” ซึ่งสื่อความหมายถึง ความมุ่งมั่นของประชาคมนิด้าที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทุกคนให้เป็นผู้ที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

D   เป็นพยัญชนะตัวแรกของค่านิยม “Discipline” ซึ่งสื่อความหมายถึง ความมุ่งมั่นของประชาคมนิด้าที่ต้องการให้บุคลากรทุกคนเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย

O   เป็นพยัญชนะตัวแรกของค่านิยม “Open-mindedness” ซึ่งสื่อความหมายถึง ความมุ่งมั่นของ
ประชาคมนิด้าที่ต้องการให้บุคลากรทุกคนเป็นผู้ที่มีจิตใจเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

M   เป็นพยัญชนะตัวแรกของค่านิยม “Morality” ซึ่งสื่อความหมายถึง ความมุ่งมั่นของประชาคมนิด้าที่ต้องการให้ทุกคนเป็นผู้ที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักธรรมาภิบาล

  1. ยุทธศาสตร์การสรรหา/คัดเลือก และพัฒนาบุคคลทุกกลุ่มให้มีขีดความสามารถสูง (Talent People) สามารถขับเคลื่อนสถาบันไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกได้
  2. ยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาสถาบัน
  3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารงานต่างๆ ของสถาบัน ให้เอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ
  4. ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์การภายนอก ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
  5. ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างแบรนด์ของสถาบันใหม่ (Rebranding)
  6. ยุทธศาสตร์การรักษาความเป็นเลิศทางวิชาการด้านหลักสูตร งานวิจัย และการบริการวิชาการที่มีความโดดเด่นและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม
  7. ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคม
  8. ยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งของศูนย์พัฒนาวิชาการต่าง ๆ ของสถาบัน

องค์ประกอบของสำนักบรรณสารการพัฒนา

“เป็นห้องสมุดมาตรฐานสากลซึ่งมีทรัพยากรที่ทันสมัยและสอดคล้องกับพันธกิจของสถาบัน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีบริการอันเป็นเลิศ และพัฒนาระบบบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง”

สำนักบรรณสารการพัฒนามีภาระหน้าที่ ดังนี้

  1. ให้บริการในลักษณะมุ่งสู่ผู้ใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ทางด้านการวิจัยและ การเรียนรู้
  2. ดำเนินการจัดหา จัดเก็บ สงวนรักษา และให้บริการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาไปสู่ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และสร้างความเข้มแข็งในสาขาพัฒนบริหารศาสตร์
  3. เผยแพร่องค์ความรู้ที่พัฒนาโดยบุคลากรของสถาบัน
  4. ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตทางด้านสาขาพัฒนบริหารศาสตร์
  5. สนับสนุนการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน ทั้งในระดับชุมชน ประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและการเรียนรู้ทางด้านสาขาพัฒนบริหารศาสตร์

การเป็นห้องสมุดชั้นนำและมีมาตรฐานสากลในการให้บริการทรัพยากรสารสนเทศเพื่อการศึกษาและวิจัยในสาขาพัฒนบริหารศาสตร์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของสถาบัน ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและสอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสถาบัน นอกจากนี้ ห้องสมุดยังต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสมาชิกในสังคมอีกด้วย

  1. ความพึงพอใจและความร่วมมือของผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  2. การมีทรัพยากรที่เหมาะสมและเพียงพอรวมทั้งตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการและศาสตร์ที่สถาบันทำการเรียนการสอนและทำการศึกษาวิจัย รวมทั้งการเป็นแหล่งเรียนรู้ในศาสตร์การบริหารการพัฒนา

“ใส่ใจให้บริการด้วยมาตรฐานสากล” (Library Services with Remarkable Standard)

1. ด้านทรัพยากรสารสนเทศ

แนวคิด

ทรัพยากรสารสนเทศมีที่มาจากหลายแหล่งทั้งจากภายในสถาบันโดยบุคลากรของสถาบันและจากภายนอกสถาบัน การที่สถาบันจะมีความเป็นเลิศในทางวิชาการได้นั้น แหล่งข้อมูลที่ครบถ้วนรวมทั้งการบริหารจัดการเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อให้ทรัพยากรสารสนเทศตอบสนองความต้องการของสถาบันและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสถาบัน

กลยุทธ์

วิเคราะห์และจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่เหมาะสม
จัดหาฐานข้อมูล วารสาร หนังสือ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้งบประมาณจำกัด

เก็บรักษาทรัพยากรสารสนเทศด้วยระบบดิจิทัลอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามกฎหมาย
การจัดเก็บและเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัล

เผยแพร่องค์ความรู้ของสถาบันอย่างกว้างขวาง
Institutional repository ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขบวนการเสรีไทย

ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสถาบัน

ข้อ 3 การปฏิบัติการที่เป็นเลิศ

ข้อ 4 ทรัพยากรที่เป็นเลิศ

2. ด้านบุคลากร

แนวคิด

บุคลากรของห้องสมุดมีหลายประเภท ทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายบริการ นักวิชาการ บรรณารักษ์ ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญต่อการให้บริการ นอกจากการคัดเลือก สรรหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติแล้ว การรักษาบุคลากรที่ทรงคุณค่าเอาไว้และพร้อมที่จะปฏิบัติงานภายใต้พัฒนาการอันรวดเร็วของเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของสังคมก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วย

กลยุทธ์

มีแผนพัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัล

การพัฒนาบุคลากรให้มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม

สนับสนุนการหมุนเวียนเปลี่ยนงาน เพื่อให้เกิดความชำนาญในหลาย ๆ ด้าน

จัดทำแผนการจัดการความรู้

สร้างวัฒนธรรมองค์กรและเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานอย่างเหมาะสม

ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสถาบัน

ข้อ 4 ทรัพยากรที่เป็นเลิศ

3. ด้านการบริการ

แนวคิด

การบริการถือเป็นหัวใจสำคัญของห้องสมุด นอกเหนือไปจากทรัพยากรสารสนเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ใช้บริการยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องสอบถาม ร้องขอ รับการอบรม หรือแก้ไขปัญหา รวมทั้งรับบริการต่าง ๆ ซึ่งระบบและเครื่องมืออัตโนมัติไม่สามารถให้ได้ ทั้งนี้ การให้บริการยังไม่จำกัดเพียงโดยบุคคลเท่านั้น สถานที่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริการด้วยเช่นกัน

กลยุทธ์

ดูแล รักษา จัดหา ทดแทน และปรับปรุงสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานและเอื้อต่อการใช้งานและทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และมีความปลอดภัย

จัดหาระบบห้องสมุดอัตโนมัติและระบบยืมคืนด้วยตนเองที่ทันสมัยสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา, ระบบทางเข้า, ปรับปรุงทรัพยากรตัวเล่มให้สามารถยืมคืนได้ด้วยตนเอง, ปรับปรุงพื้นที่ให้บริการชั้น G, 2, 3, 4, ปรับปรุงระบบ e-Library, แผนบำรุงรักษา, แผนบริหารความเสี่ยงและกรณีฉุกเฉิน, แผนพัฒนาและจัดหา ระบบ อุปกรณ์ พัสดุครุภัณฑ์ และดูแลสุขอานามัย ตลอดจนมีมาตรการป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ

รักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
การประหยัดพลังงาน, รักษาความสะอาด, น้ำดื่มสะอาด, ห้องน้ำ, พื้นที่สีเขียว, การให้ความสว่างและการใช้เสียง, บริการเสริมเพื่ออำนวยความสะดวก

การให้บริการโดยการคำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
การสำรวจความพึงพอใจ, กระบวนการในการรับเรื่องร้องเรียน คำแนะนำ, กระบวนการในการปรับปรุง พัฒนา การให้บริการ, การขยายเวลาให้บริการ, การให้บริการในวันหยุด และการจัดฝึกอบรม, การมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องการให้บริการและรับรู้โดยผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ, จัดทำและเผยแพร่เนื้อหาช่วยเหลือการใช้บริการในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจและเข้าถึง, Subject librarians

การสร้างความผูกพันของผู้ใช้บริการ
การรณรงค์, การจัดกิจกรรม, ND4000, Free access, การรับบริจาค, จัดซุ้มแสดงความยินดีผู้สำเร็จการศึกษา, นักศึกษาช่วยปฏิบัติงาน, การดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของผู้ใช้และผู้ให้บริการ, การสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ห้องสมุดในการจัดกิจกรรมทางวิชาการของนักศึกษา

ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสถาบัน

ข้อ 3 การปฏิบัติการที่เป็นเลิศ

4. ด้านการบริหาร

แนวคิด

ในการสร้างแบรนด์ของสถาบันจำเป็นต้องอาศัยภาพลักษณ์แห่งความเป็นสากล เพื่อทำให้สถาบันมีชื่อเสียงต่อกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น การจัดวางระบบบริหารงานเพื่อการประกันคุณภาพ ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ได้รับการควบคุมและสามารถตรวจสอบได้ โดยผ่านระบบที่ระบุขั้นตอนและวิธีการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรในองค์กรรู้หน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน โดยต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน มีการจดบันทึกข้อมูล รวมทั้งการตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้ในระบบ และมีการแก้ไขข้อผิดพลาดรวมทั้งมีแนวทางในการป้องกันข้อผิดพลาดเดิม ปรับปรุงกระบวนการทำงานและการให้บริการให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

มาตรฐานคอร์ทรัสซีล (CoreTrustSeal) ยังช่วยทำความเข้าใจกับองค์กรและบริบทองค์กร การทำความเข้าใจกับความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อใช้สำหรับการดำเนินการกับความเสี่ยงและโอกาสรวมถึงข้อกำหนดอื่น ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรสามารถมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

กลยุทธ์

ปรับปรุงกระบวนการทำงานและการให้บริการให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

การได้รับรองมาตรฐานคอร์ทรัสซีล (CoreTrustSeal) ที่ว่าด้วยระบบบริหารคุณภาพ ในระดับสากล

ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสถาบัน

ข้อ 2 เพิ่มชื่อเสียง การยอมรับ เสริมสร้างแบรนด์
ข้อ 3 การปฏิบัติการที่เป็นเลิศ

5. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการประชาสัมพันธ์

แนวคิด

นอกเหนือจากการเป็นแหล่งข้อมูลและองค์ความรู้ทางวิชาการ และให้บริการกับสมาชิกแล้ว ห้องสมุดยังมีพันธกิิจในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม ในแนวทางที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของห้องสมุด และยังถือเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสถาบันต่อสาธารณชน ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกด้วย

กลยุทธ์

การส่งเสริมการอ่านและบริการสังคม
โครงการต่าง ๆ เช่น mobile library, ชวนน้อง, วันเด็ก, นักอ่าน, นิทรรศการ, แหล่งฝึกงานและศึกษาดูงาน และหนังสือบริจาคสู่ทัณฑสถาน

การสร้างความร่วมมือและแบ่งปันทรัพยากร
MOU, ILL, Open to public, แหล่งฝึกงานและดูงาน, บริจาคหนังสือให้กับห้องสมุดที่ขาดแคลน

การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
Open to public, Life membership for alumni and ex-employees

การประชาสัมพันธ์
Clip VDO, Social media, website, email, สถานที่ถ่ายทำ, แหล่งดูงาน, ให้ความรู้ผ่านการเขียนและเผยแพร่บทความ

การใช้งานพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพในการสนับสนุนการเรียนการสอน วิจัย บริการวิชาการ และสร้างประโยชน์กับชุมชน และสังคม

ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสถาบัน

ข้อ 4 ทรัพยากรที่เป็นเลิศ

 

Skip to content